มะรุมกับโรคเบาหวาน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานพบได้ในประชากรไทยตั้งแต่ร้อยละ ๓ ถึง ๑๐ แล้วแต่พื้นที่และภาวะโภชนาการ โรคนี้พบได้ทั้งสองเพศ มักพบในวัยกลางคน แต่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เข้าสู่วัยทอง ใน อดีต ที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา โรคเบาหวานจะพบได้ ประมาณร้อยละ ๑-๔ เท่านั้น โรค เบาหวานมี ๒ ประเภท ประเภทที่หนึ่ง เกิดจากร่างกายขาดอินซูลินเพราะต่อมสร้างอินซูลินที่ตับอ่อนถูกทำลาย ประเภทที่สอง ไม่ได้เกิดจากการ ขาดอินซูลิน แต่ร่างกายอาจจะ มีอินซูลินเพิ่มขึ้นในร่างกายแต่ ก็ยังเป็นโรค เบาหวาน เพราะความผิดปกติเริ่มจาก ปัจจัยหรือสารบางอย่างทำให้ ร่างกายไม่สามารถใช้อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ตามปกติ น้ำตาลจึงสะสมเพิ่มขึ้นในร่างกายและร่างกายต้องหลั่งอินซูลินเพิ่ม ตามระดับน้ำตาล เพื่อพยายามแก้ไขภาวะการที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต่อมผลิตอินซูลินจนผลิตเพิ่ม ไม่ไหวแล้ว อาการของโรคเบาหวานจึงแสดงออกมา โรคเบาหวานประเภทที่สองเป็นประเภทที่พบบ่อยกว่าประเภทแรก ปัจจัยภายนอกบางอย่างที่ขัดขวางหรือลดประสิทธิภาพของอินซูลินในการใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้แก่ การกินอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากเกินพอ สภาพการทำงานของคนในกรุงเทพที่เป็นแบบนั่งอยู่ในสำนักงาน และขาดการออกกำลังกาย การมีความเครียดด้านจิตใจเพิ่มขึ้นจากเรื่องต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ผู้นั้นไม่สามารถแก้ไขได้ การที่ผู้ป่วยได้รับยาที่ต้านฤทธิ์ของอินซูลิน เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้เป็นโรคเบาหวานประเภทที่สองได้ง่ายขึ้น อาการนำ ๓ อย่างที่พบบ่อย ของ ผู้ที่เป็น โรค เบาหวานได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย แต่ ผอมลง หรือ น้ำหนักลด ผู้ป่วยยัง กินอาหารได้ หรือกินเก่งขึ้น บางรายอ้วนขึ้นก่อนแล้วค่อยผอมลง แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกผิดปกติและมาหาแพทย์ตอนน้ำหนักลด นอกจากนี้ จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายขึ้น การที่ถ่ายปัสสาวะบ่อยเพราะร่างกายใช้น้ำตาลในร่างกายไม่ได้ดี จึงมีน้ำตาลท่วมท้นในกระแสเลือดและน้ำตาลที่ท่วมท้นจะถูกขับออกมาในปัสสาวะ น้ำตาลที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะจะดึงน้ำตามออกมาในปัสสาวะด้วย จึงเป็นการเพิ่มปริมาณปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ใส และมีปริมาณมาก ซึ่งแตกต่างจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะบ่อยแต่มีจำนวนน้อย และปัสสาวะขุ่น บางครั้งจึง มีมดมาตอมน้ำตาลในปัสสาวะ คนปกติจะไม่มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะเลย การสูญเสียปริมาณ น้ำปัสสาวะมากทำให้หิวน้ำบ่อยและต้องดื่มน้ำชดเชยบ่อยขึ้น น้ำหนักลดเพราะร่างกายใช้น้ำตาลเป็นพลังงานไม่ได้และ น้ำตาลสูญเปล่า เพราะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ร่างกายจึงต้องไปดึงไขมันและโปรตีนในร่างกายมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน ร่างกายจึงผอมลง การถ่ายปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก ทำให้มีการสูญเสียเกลือแร่ออกนอกร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่ายขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่รักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เรื้อรังและเกิดขึ้นช้าๆ ได้แก่ ความผิดปกติใน การทำงานของระบบประสาทโดยเฉพาะการรับรู้ความรู้สึก และหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยเบาหวานจะมีเท้าชา รับรู้ความรู้สึกเจ็บและการสัมผัสลดลง โดยเฉพาะที่ปลายมือปลายเท้า ส่วนผิวในของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก จะเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงขนาดเล็กตีบหรือตันง่ายขึ้น ระบบการแข็งตัวของเลือดจะทำให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้นด้วย ปัจจัยทั้งสอง จะส่งเสริมให้หลอดเลือดแดงตีบหรือตันง่ายขึ้น เลือดจึงไปเลี้ยงที่อวัยวะต่างๆ ลดลงและบางครั้งมีการอุดตันของหลอดเลือดแบบฉับพลันได้ จึงเกิดโรคที่เป็นจากผลจากอวัยวะขาดเลือดฉับพลันซึ่งได้แก่เนื้อตายในอวัยวะนั้น ถ้าเกิดที่หลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยง สมอง หัวใจ ไต ผลร้ายก็คือ ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคอัมพาตของแขนขาหรืออัมพาตครึ่งซีกหรือหมดสติ หรือเกิดอาการแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจวายฉับพลัน ไตพิการเรื้อรัง เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นและมีผลให้เกิดผลร้ายซ้ำเติมตามมาอีก ที่สำคัญคือ แผลเบาหวาน และติดเชื้อ ต้อกระจก และอวัยวะปลายทางขาดเลือด เป็นต้น แผลเบาหวาน เป็นภาวะซ้ำเติมที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่แพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย แต่การดูแลรักษาแผลเบาหวานมักจะไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกหรือให้การรักษาช้าเกินไป ผลร้ายที่ตามมาคือ ต้องตัดนิ้วหรือตัดเท้าหรือตัดขาส่วนล่างระดับหน้าแข้งลงไป หรือตัดขาทิ้งตั้งแต่ขาท่อนบนลงมา ผลร้ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในยุคปัจจุบัน เพราะเรามียาและวิธีรักษาที่ดีมากที่จะรักษาโรคให้หายขาดตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ป่วยเบาหวานต้องดูเท้าตนเองทุกวันว่า มีแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ดูให้เห็นชัดๆ ว่า ไม่มีแผลเพราะผู้ป่วยอาจจะมีต้อกระจกรวมอยู่ด้วย ทำให้เห็นไม่ชัด ถ้ารอให้เกิดความรู้สึกเจ็บที่แผลหรือมีไข้ก่อนแล้วค่อยไปหาแพทย์ ก็จะช้าไป ถ้ามีแผลเกิดขึ้นจากการมองเห็นด้วยสายตา ต้องหมั่นทำแผลให้สะอาดและให้แพทย์มาร่วมดูแลแผลด้วยตั้งแต่ต้น ผู้ป่วยหลายรายเชื่อเรื่องการพอกแผลด้วยสมุนไพรที่บอกต่อๆ กันมา ขอแนะนำให้พบแพทย์ก่อนด้วย ไม่ควรใช้สมุนไพรรักษาตามลำพังโดยไม่มีใครช่วยติดตามและประเมินผล โดยส่วนตัวไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรรักษาแผลเบาหวานเพราะเห็นมาหลายรายแล้วว่า ไม่ได้ผล ทำให้พลาดโอกาสที่จะหายจากโรคโดยเร็ว บางครั้งเห็นมีแผลขนาดเล็กที่เท้าแต่มีไข้ขึ้น แสดงว่า แผลได้เซาะลึกเข้าใต้ชั้นผิวหนังและลามแผ่ออกไปใต้ชั้นผิวหนังแล้ว ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานมีทั้งยากินและยาฉีด ยากินจะใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่ง เพราะ ไม่มีต่อมหรือมีต่อมไม่เพียงพอที่จะผลิตอินซูลินและ ยากินต้องอาศัยการออกฤทธิ์กระตุ้นต่อมให้สร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่งจึงต้องฉีดยาอินซูลินชดเชยตลอดชีพ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่สองใช้ยากินได้ถ้าโรคไม่รุนแรงจนเกินไป ถ้าโรครุนแรงจนถึงระดับหนึ่ง การใช้ยากินอย่างเดียวจะไม่ได้ผลเช่นกัน จึงต้องใช้ยาฉีดร่วมด้วยในกรณีนี้ การกินแต่อาหารกลุ่ม fast food ประจำ การนั่งเล่นเกมอยู่หน้าโทรทัศน์เป็นประจำ ล้วนแต่เป็นการบ่อนทำลายสุขภาพของตนเอง การควบคุมน้ำหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการออกกำลังกาย ถือว่า เป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำได้ในทุกระยะของชีวิตคนเป็นเบาหวานตั้งแต่เกิดมา และสามารถทำได้ในประชากรทั่วไปไม่ว่าจะป่วยหรือไม่เคยป่วยเป็นโรคใดก็ตาม การปฏิบัติตนในด้านอื่นๆ ของผู้ที่เป็นเบาหวานอีกข้อคือ ผู้ป่วยต้องกินยาต้านเบาหวานหรือฉีดยาให้สม่ำเสมอ ส่วนการกินยาสมุนไพรต่างๆ น่าจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นได้ถ้ามีผู้นั้นมีความเชื่อในสรรพคุณของสมุนไพร เพียงแต่ ผู้เขียนสามารถรับรองได้ว่า การกินแต่ยาแผนปัจจุบันอย่างเดียวก็สามารถคุมโรคเบาหวานได้แน่นอนอยู่แล้ว ผู้ที่กินสมุนไพรร่วมด้วยโดยที่เชื่อว่า สมุนไพรดังกล่าวไม่มีพิษหรือผลร้ายใดๆ เลยนั้น ผู้กินก็ต้องประเมินผลการกินสมุนไพรเหมือนกับการกินยาแผนปัจจุบันด้วยเหมือนกัน ผู้ที่เป็นเบาหวานต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นหรือทำให้การรักษาเบาหวานยากขึ้น เช่น ต้องงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราจนเมามายหรือดื่มเป็นประจำที่มากเกินไป อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์และถ่ายเท หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น วัณโรค ไม่เกาตามผิวหนังอย่างรุนแรงเมื่อรู้สึกคันโดยเฉพาะตามรักแร้หรือในที่อับชื้น ไม่ขยี้หนังตารุนแรงเมื่อรู้สึกคันตา ต้องล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกหรือเมื่อจะแตะต้องผิวหนังของตนเองโดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้น ต้องล้างมือตนเองให้สะอาดเมื่อจะทำแผลของตนเอง เป็นต้น ขณะที่รักษาโรคเบาหวาน หากมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้องรีบหาสาเหตุและให้การแก้ไข เช่น ถ้ามีอาการ เหงื่อแตก หมดแรงจะเป็นลม โดยไม่มีอาการแน่นหน้าอกหรือถ่ายอุจจาระดำ มักเกิดจาก น้ำตาลต่ำในเลือด ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจึงต้องมีเม็ดลูกกวาดหรือก้อนน้ำตาลเตรียมไว้อม เพื่อแก้ไขอาการดังกล่าว การอมลูกกวาดหรือก้อนน้ำตาลหรือดื่มน้ำหวานแล้วฟื้นคืนสติภายในเวลา ๕ นาที จะ ยืนยันว่า อาการดังกล่าว มีสาเหตุจากน้ำตาลในเลือดต่ำจริง หากเกิดภาวะนี้ ต้องหาสาเหตุและแก้ไขอีกเช่นกัน ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นตามลำดับ ต้องระวังว่า เกิดจากการรักษาเบาหวานที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รักษาอย่างสม่ำเสมอ ต้องไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและแก้ไขอีกเช่นกัน โดยสรุป โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อย การรักษาไม่ยุ่งยาก และผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ แต่ผู้ป่วยต้องเข้าใจโรคและร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง การมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักโดยการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เป็นการส่งเสริมสุขภาพของผู้นั้นและทำให้เจ็บป่วยจากโรคอื่นน้อยลง การรักษาจึงจะได้ผลดีและส่งผลให้ร่างกายคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรงและใช้งานได้นานเท่าคนปกติได้ |
|
แหล่งข้อมูล : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล